กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ข้อมูลทั่วไป

  • ประวัติความเป็นมา
  • ภูมิประเทศ
  • พืชพรรณ/สัตว์ป่า
  • ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว
  • สิ่งอํานวยความสะดวก

ข้อปฏิบัติ

การเดินทางมาอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน

             อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน ตั้งอยู่ในท้องที่อำเภอเมืองปาน อำเภอแจ้ห่ม อำเภอวังเหนือ และอำเภอเมือง จังหวัดลำปาง จึงสามารถเดินทางเข้าถึงพื้นที่ได้หลายเส้นทาง ที่ทำการอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน ตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลแจ้ซ้อน อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง สามารถเดินทางไปยังที่ทำการอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อนได้ 5 เส้นทาง ดังนี้

เส้นทางที่ 1 เส้นทางจากตัวเมืองลำปางไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 (ลำปาง-ห้างฉัตร) เลี้ยวขวาที่สามแยกบ้านน้ำโท้ง ไปตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1157 (ลำปาง-ห้วยเป้ง-เมืองปาน) ระยะทาง 55 กิโลเมตร เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1287 (เมืองปาน-แจ้ห่ม) ประมาณ 2 กิโลเมตร เลี้ยวซ้าย ไปตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1252(ข่วงกอม-ปางแฟน) อีกประมาณ 11 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าตามทาง รพช. อีกประมาณ3 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน (ภาพที่ 4)

เส้นทางที่ 2 เส้นทางจากตัวเมืองลำปาง ไปตามทางหลวงหมายเลข 1035 (ลำปาง-วังเหนือ) ระยะทาง 58 กิโลเมตร ผ่านอำเภอแจ้ห่ม เลี้ยวซ้ายที่สามแยกบ้านปงคอบ ไปตามเส้นทางหลวงหมายเลข 1287 (แจ้ห่ม-เมืองปาน) ระยะทาง 6 กิโลเมตร เลี้ยวขวาไปตามเส้นทางหลวงหมายเลข 1252 (ข่วงกอม-ปางแฟน) ระยะทางประมาณ 11 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าตามทาง รพช. อีกประมาณ3 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน

เส้นทางที่ 3 เส้นทางจากจังหวัดเชียงใหม่ ไปตามทางหลวงหมายเลข 118 ประมาณ 44 กิโลเมตร เลี้ยวขวาไปตามทางหลวงหมายเลข 3005 ผ่านอำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่
ถึงหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติแม่ตะไคร้ที่ 2 (บางจำปี) เลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข 4063 ระยะทางประมาณ 14.2 กิโลเมตร เลี้ยวขวาไปตามทางหลวงหมายเลข 1252 ผ่านจุดชมทิวทัศน์กิ่วหิน หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ จซ.5 (แม่แจ๋ม) บ้านแม่แจ๋ม โครงการพัฒนาป่าไม้ตามแนวพระราชดำริดอยล้าน ระยะทางประมาณ 35 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขวาไปตามทาง รพช. อีกประมาณ3 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน

เส้นทางที่ 4 เส้นทางจากจังหวัดเชียงใหม่ ไปตามทางหลวงหมายเลข 118 ประมาณ 32 กิโลเมตร เลี้ยวขวาไปตามทางหลวงหมายเลข 3005 ผ่านอำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ระยะทางประมาณ 9 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายไปตามถนนห้วยแก้ว ระยะทางประมาณ 9 กิโลเมตร ไปตามทางหลวงหมายเลข 4074 ผ่านบ้านแม่กำปอง หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ที่ จซ.7 (ดอยล้าน)จุดชมทิวทัศน์กิ่วฝิ่น บ้านป่าเหมี้ยง เป็นระยะทางประมาณ 24.3 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน

เส้นทางที่ 5 เส้นทางจากจังหวัดเชียงราย ไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) ประมาณ 25 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขวาตามทางหลวงหมายเลข 118 ผ่านอำเภอแม่สรวย อำเภอเวียงป่าเป้า ระยะทางประมาณ 85 กิโลเมตร ถึงสามแยกบ้านแม่ขะจานแล้วเลี้ยวซ้ายเข้ามา 10 กิโลเมตร เลี้ยวขวาตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1035 (ลำปาง-วังเหนือ) ระยะทาง 60 กิโลเมตร ถึงสามแยกบ้านปงคอบ เลี้ยวขวาไปตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1252 (ข่วงกอม-ปางแฟน)อีกประมาณ 11 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าตามทาง รพช.อีกประมาณ 3 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน

ท่องเที่ยวอย่างสุขใจ ความปลอดภัยให้เราดูแล

น้ำตกแจ้ซ้อน เป็นน้ำตกที่เกิดจากลำน้ำแม่มอนที่ไหลผ่านภูมิประเทศที่มีความสูงต่างระดับกัน ตกลงมาเป็นชั้นๆ มีทั้งหมด 6 ชั้น ในแต่ละชั้นจะมีแอ่งน้ำรองรับและมีความสวยงามแตกต่างกันออกไป มีเส้นทางรถยนต์ และทางเดินเท้าเข้าถึง ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตรจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ

น้ำพุร้อนแจ้ซ้อน เป็นแหล่งน้ำพุร้อนที่เกิดจากน้ำบนผิวดินที่ไหลซึมผ่านรอยแตกของชั้นหินลงไปใต้ดินที่มีอุณหภูมิสูงถึง 149 องศาเซลเซียส อยู่ใกล้รอยเลื่อนแม่ทา ความร้อนจะดันน้ำกลับขึ้นมาสู่ผิวดินอีกครั้ง กลายเป็นบ่อน้ำพุร้อนที่มีอุณหภูมิเฉลี่ย 73 องศาเซลเซียส บริเวณนี้มีบ่อน้ำพุร้อนเล็กๆ 9 บ่อ รายล้อมด้วยโขดหินน้อยใหญ่กระจายอยู่ทั่วพื้นที่ โดยนักท่องเที่ยวสามารถลวกไข่ไก่หรือไข่นกกระทาได้ที่บ่อน้ำพุร้อนทั้ง 9 บ่อ เพียงแช่ไข่ประมาณ 16 นาที ก็จะได้ไข่น้ำแร่น่ารับประทานและรสชาติอร่อย

ห้องอาบน้ำแร่ อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อนได้จัดสร้างห้องอาบน้ำแร่ สำหรับให้บริการนักท่องเที่ยว โดยมีการจัดการโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมและภูมิทัศน์ที่สวยงาม กลมกลืนกับธรรมชาติ มี 3 ลักษณะ คือ ห้องอาบน้ำแร่แบบแช่ส่วนตัว จำนวน 40 ห้อง และสระน้ำแร่กลางแจ้ง 3 บ่อ ไว้บริการนักท่องเที่ยวทุกวัน โดยน้ำแร่ที่ใช้แช่อาบจะต่อท่อตรงมาจากบ่อพักน้ำแร่ลานน้ำพุร้อน ซึ่งสะอาดปลอดภัย การอาบน้ำแร่เป็นการบำบัดความเมื่อยล้าของร่างกาย ทำให้รู้สึกสดชื่น ช่วยให้โลหิตไหลเวียนดี และยังช่วยรักษาโรคผิวหนังบางชนิดได้ เช่น กลากเกลื้อน ผื่นคัน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีนวดแผนโบราณไว้บริการสำหรับนักท่องเที่ยวที่สนใจอีกด้วย

จุดชมทิวทัศน์กิ่วหิน สถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ อยู่ใกล้ชุมชนบ้านแม่แจ๋ม ในพื้นที่ดูแลของอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน แวะชม “กุหลาบพันปี” บนเส้นทางศึกษาธรรมชาติ เป็นทางเดินยกระดับระยะทาง 100 เมตร นำพาผู้มาเยือนไปตามสันเขาที่มีจุดชมทิวทัศน์แบบ 360 องศา

จุดชมทิวทัศน์กิ่วฝิ่น สถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ อยู่บริเวณหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ที่ จซ. 7 (ดอยล้าน) แวะสัมผัสบรรยากาศที่ระดับความสูงจากน้ำทะเลปานกลาง 1,525 เมตร ชมแนวทิวเขาปกคลุมด้วยผืนป่าเขียวชอุ่ม เรือนยอดที่ดูสะดุดตาของ “สนสามใบ” และ “สนสองใบ” ซึ่งเป็นสมาชิกในวงศ์ Pinaceae และในช่วงเดือนธันวาคม - มกราคม “ดอกนางพญาเสือโคร่ง”จะพากันบานสะพรั่ง เมื่อถูกโอบล้อมด้วยทะเลหมอกและแสงแดดอบอุ่นในยามเช้า หรือพื้นหลังเป็นพระอาทิตย์ตกดินในยามเย็น เกิดเป็นภาพที่ธรรมชาติจัดวางไว้อย่างลงตัว

สิ่งอำนวยความสะดวกสบายมากมี...ที่นี่อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน

 

อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน ได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวและผู้ที่สนใจเข้ามาศึกษาธรรมชาติ ดังนี้

1. ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว จำนวน 1 หลัง

2. ร้านจำหน่ายสินค้าชุมชน จำนวน 1 หลัง (ร้านอาหาร เครื่องดื่ม และของที่ระลึก)

3. ห้องประชุม พร้อมเครื่องโสตทัศนูปกรณ์ จำนวน 2 ห้อง

    3.1 ห้องประชุมรุ่งอรุณ รองรับได้ 100 คน

    3.2 ห้องประชุมวนกร รองรับได้ 30 คน

4. ศาลาเอนกประสงค์ จำนวน 1 หลัง

5. บ้านพักนักท่องเที่ยว จำนวน 9 หลัง ราคา 900 – 3,600 บาท

6. ค่ายพักแรม จำนวน 2 หลังรองรับได้ หลังละ 28 คน ราคาคืนละ 500-1,000 บาท

7. ลานกางเต็นท์ รองรับเต็นท์ได้จำนวน 150 หลัง

8. ลานจอดรถ 2 แห่ง

9. ห้องน้ำ-ห้องสุขา จำนวน 19 หลัง แบ่งเป็น

9.1 ห้องน้ำ-ห้องสุขาชาย จำนวน 43 ห้อง

 9.2 ห้องน้ำ-ห้องสุขา หญิง จำนวน 40 ห้อง

9.3 ห้องน้ำ-ห้องสุขาผู้พิเศษ จำนวน 7 ห้อง

 9.4 ห้องอาบน้ำ จำนวน 35 ห้อง

10. พื้นที่สูบบุหรี่ จำนวน 5 จุด

11. สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิเศษ โครงสร้างพื้นฐานและบริการ ได้แก่ บ้านพัก ลานจอดรถ ห้องน้ำ ห้องสุขา ร้านค้าสวัสดิการ ทางลาดเพื่อเชื่อมโยงไปยังจุดต่างๆ 12 จุด ตลอดจนการเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยว ด้วยแนวคิดการออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อคนทั้งมวล ให้สามารถรองรับทุกคนในสังคมได้อย่างเท่าเทียม

เที่ยวได้ตลอดทั้งปี...ที่นี่อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน

    

พืชพันธุ์และสัตว์ป่าของอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน

พืชพรรณ ที่พบในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน มีลักษณะเป็นสังคมพืชหลายชนิด ดังนี้

 

ป่าเบญจพรรณ พบตามสันเขาและหุบเขา ในระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 400 - 1,000 เมตร ครอบคลุมพื้นที่ทางด้านทิศใต้ของอุทยานแห่งชาติ ชนิดไม้เด่นที่พบ เช่น สัก แดง ประดู่ แสมสาร กระบก กว้าว เก็ดแดง ติ้ว ซ้อ ปอกระสา เป็นต้น ไผ่ เช่น ไผ่ซางนวล ไผ่ไร่ ไผ่หอบ เป็นต้น พืชพื้นล่างและพืชอิงอาศัย เช่น กล้วยนวล กระชาย เล็บเหยี่ยว กะลังตังช้าง เครือออน เป็นต้น

ป่าเต็งรัง พบตามเชิงเขาและไหล่เขาทางด้านทิศใต้ของอุทยานแห่งชาติ ในระดับความสูง
จากระดับน้ำทะเลปานกลาง
700 เมตร ชนิดไม้เด่นที่พบ เช่น เต็ง รัง เหียง พลวง มะกอกป่า แดง ประดู่ อ้อยช้าง กระโดน มะกอกเกลื้อน โมกมัน มะค่าแต้ เป็นต้น พืชพื้นล่างที่พบ เช่น หญ้าเพ็ก โจด ปรงป่า เป็นต้น

ป่าดิบเขา พบกระจายอยู่ทางด้านทิศเหนือของอุทยานแห่งชาติ ในระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 800 เมตรขึ้นไป ชนิดไม้เด่นที่พบ เช่น ก่อเดือย ก่อแป้น ก่อตาหมู ไก๋ ทะโล้ เหมือด จำปาป่า ยางเหลือง ตะไคร้ต้น เป็นต้น พืชพื้นล่างที่พบ เช่น ไผ่ศก โชนผี พืชในวงศ์ขิงข่า เป็นต้น

ป่าสนเขา พบกระจายอยู่ตามแนวสันเขาและไหล่เขา ในระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 900 เมตร ชนิดไม้เด่นที่พบ เช่น สนสองใบ สนสามใบ ก่อ จำปีป่า หว้า มะขามป้อมดง กำลังเสือโคร่ง เป็นต้น พืชพื้นล่างที่พบ เช่น หนาด สาบหมา พืชในวงศ์หญ้า พืชในวงศ์ขิงข่า เป็นต้น

ป่าดิบแล้ง พบกระจายอยู่ตามหุบเขาบริเวณริมห้วยหรือลำธารที่มีความชุ่มชื้นสูง ชนิดไม้เด่นที่พบ เช่น ยางนา ยางแดง ตะเคียนหิน พะยอม สมพง มะค่าโมง มะค่าแต้ กระบก พลอง เป็นต้น พืชพื้นล่างที่พบ เช่น ไผ่เฮียะ เฟิน หวาย พืชในวงศ์ขิงข่า เป็นต้น

ลักษณะภูมิประเทศของอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน

อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน มีลักษณะภูมิประเทศของพื้นที่โดยทั่วไปเป็นภูเขาสลับซับซ้อน ทำให้พื้นที่มีลักษณะของความลาดชันที่หลากหลาย โดยมีระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางอยู่ระหว่าง 295 – 2,031 เมตร มียอดเขาที่สูงที่สุด คือ ยอดดอยลังกา มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 2,031 เมตร เมื่อแบ่งระดับช่วงชั้นความสูงจำนวน 6 ชั้น ได้แก่ น้อยกว่า 300 เมตร 300 – 600 เมตร 600 – 900 เมตร 900 – 1,200 เมตร 1,200 – 1,500 เมตร และมากกว่า 1,500 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง พื้นที่ส่วนใหญ่มีระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางอยู่ในช่วง 600 - 900 เมตร มีเนื้อที่ 190,695.08 ไร่  หรือประมาณ 305.11 ตารางกิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ 38.5
 

 

 

 

 

 

 

ประวัติความเป็นมาอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน

 

อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่อำเภอเมืองปาน อำเภอแจ้ห่ม อำเภอวังเหนือ และอำเภอเมือง จังหวัดลำปาง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัด มีสภาพป่าอันอุดมสมบูรณ์เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร มีสัตว์ป่านานาชนิด และมีทรัพยากรธรรมชาติที่สวยงามหลายแห่ง เช่น น้ำตก แอ่งน้ำอุ่นบ่อน้ำพุร้อน เป็นต้น ซึ่งสามารถเป็นหลักฐานหนึ่งที่แสดงว่าใต้พื้นโลกเรายังมีความร้อนอยู่ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดลำปาง มีเนื้อที่ประมาณ 480,000 ไร่ หรือ 768 ตารางกิโลเมตร
ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2526 กรมป่าไม้ จึงได้ดำเนินการจัดตั้งวนอุทยานแอ่งน้ำอุ่น (วนอุทยานน้ำตกแจ้ซ้อน) บริเวณน้ำตกแจ้ซ้อน ตำบลแจ้ซ้อน กิ่งอำเภอเมืองปาน อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง เนื้อที่ประมาณ 45,000 ไร่ หรือ 75 ตารางกิโลเมตร โดยอยู่ในความดูแลของสำนักงานป่าไม้เขตลำปาง เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2530 และกองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ ได้นำเสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ซึ่งได้มีมติในคราวประชุม ครั้งที่ 1/2530 เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2530 เห็นชอบในการยกฐานะเป็นอุทยานแห่งชาติ โดยได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าแม่สุก ป่าแม่สอย ป่าแม่ตุ๋ยฝั่งซ้าย ป่าแม่ตุ๋ยฝั่งขวา ในท้องที่ตำบลแจ้ซ้อน ตำบลเมืองปาน ตำบลบ้านขอ ตำบลทุ่งกว๋าว อำเภอแจ้ห่ม และตำบลบ้านคำ อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง เนื้อที่ประมาณ 370,000 ไร่ หรือ 592 ตารางกิโลเมตร ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 105 ตอนที่ 122 ลงวันที่ 28 กรกฎาคม 2531 เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 58 ของประเทศ ต่อมาได้มีประกาศขยายเขตอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน ตามแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกาขยายเขตอุทยานแห่งชาติป่าแม่สุก ป่าแม่สอย ป่าแม่ตุ๋ยฝั่งซ้าย และป่าแม่ตุ๋ยฝั่งขวา ในท้องที่ตำบลวังใต้ ตำบลร่องเคาะ อำเภอวังเหนือ ตำบลแม่สุก อำเภอแจ้ห่ม และตำบลหัวเมือง ตำบลเมืองปาน อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง พ.ศ. 2543 เนื้อที่ประมาณ 110,000 ไร่ หรือ 176 ตารางกิโลเมตร ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 117 ตอนที่ 121 ก ลงวันที่ 28 ธันวาคม 2543

ตารางขนส่งสาธารณะ

ขาไป

ขบวน ระยะเวลา ออก ถึง

ขากลับ

ขบวน ระยะเวลา ออก ถึง
0 ํC
14:30
จ 1 มิ.ย.